หมวดหมู่: บทความการเงิน

1aaaFinTech


FinTech พลิกโฉมโลกธุรกิจการเงินการลงทุน

      ‘Necessity is the mother of innovation’ หมายถึง นวัตกรรมมักเกิดขึ้นจากความจำเป็นที่จะต้องก้าวผ่านอุปสรรคอะไรสักอย่างไปให้ได้ ในภาคการเงินเองนั้นแม้ว่าจะมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ก็ยังมีโจทย์หรือความต้องการของผู้บริโภคที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ประกอบกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยซึ่งช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถหาคำตอบของโจทย์ยากๆ เหล่านั้นอย่างที่ในอดีตไม่มีทางทำได้ ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมีผู้นำเสนอนวัตกรรมทางการเงิน (Financial Innovation) เป็นจำนวนมาก

      โดยบริษัทที่ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเงินซึ่งผสมผสานระหว่างความรู้ด้านการเงิน (Financial) และเทคโนโลยี (Technology) ที่เรียกว่า FinTech กำลังมีบทบาทในการเข้ามาลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงิน และสร้างโอกาสให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การก้าวเข้ามาของ FinTech ยังสร้างความท้าทายให้กับผู้ร่วมตลาดในแวดวงการเงินอื่นๆ เช่น ผู้ให้บริการทางการเงินดั้งเดิม (Incumbent) ผู้ทำธุรกิจให้คำปรึกษา ผู้ทำธุรกิจนายหน้าและคนกลาง รวมไปถึงผู้ออกกฎระเบียบ ที่ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้เช่นกัน

 

การเติบโตของธุรกิจ ‘FinTech’ ในระดับสากล ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์       

    ในปี 2560 ถือว่าเป็นปีทองของสตาร์ทอัพ FinTech โดยมีมูลค่าการระดมทุนทั่วโลกผ่านวิธีการระดมทุนหลักอย่าง Venture Capital (VC) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1.66 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นถึง 4.4 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2556 โดยมูลค่าที่เพิ่มขึ้นนำโดยประเทศในยุโรป และอเมริกาเหนือที่มีการระดมทุนใน FinTech ผ่าน VC เพิ่มขึ้นจากปี 2559 คิดเป็น 121% และ 33% ตามลำดับ ในขณะที่เอเชียมีมูลค่าระดมทุนใน FinTech ผ่าน VC ลดลง 10% นอกจากนี้ จำนวนบริษัทที่ระดมทุนเพิ่มผ่าน VC ในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 1,128 บริษัท จากเดิมอยู่ที่ 1,023 บริษัทในปี 2559 แม้ว่าเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวของ FinTech ที่อยู่ในช่วง Early Stage และไปเพิ่มขึ้นในช่วง Late Stage ซึ่งเป็นช่วงที่นำเสนอผลงานเข้าสู่ตลาดแล้วแต่ต้องการเงินทุนเพื่อไปขยายธุรกิจ  

 

วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีทางการเงินจากอดีต...สู่ปัจจุบัน

     แม้ว่าการเติบโตของสตาร์ทอัพด้าน FinTech จะมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดแต่หากพิจารณาวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีทางการเงินจะเห็นว่า FinTech ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด ตามงานศึกษาของ Arner, Jànos Barberis, and Ross P. Buckley ได้แบ่งยุคสมัยของ FinTech ออกเป็น 3 ช่วง โดย FinTech 1.0 เป็นยุคหลังสงครามโลกที่ระบบการเงินของประเทศต่างๆ เริ่มมีการเชื่อมโยงถึงกันด้วยระบบอนาล็อก ขณะที่ FinTech 2.0 เป็นยุคดิจิทัลที่มีการนำคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเข้ามาใช้ ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุค FinTech 3.0 (ตั้งแต่ปี 2551 – ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นช่วงหลังวิกฤติ Subprime ที่แม้เริ่มต้นเกิดขึ้นในสหรัฐฯ แต่ได้ขยายผลลบไปสู่ระบบการเงินของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยสาเหตุหลักมาจากความไม่รับผิดชอบของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ทำให้ผู้บริโภคลดความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินเหล่านี้ลง

       และนำไปสู่ความนิยมในการระดมทุนทางเลือกอย่างเช่น Cryptocurrency ชื่อดังอย่าง Bitcoin หรือ Kickstarter ผู้นำด้าน Crowdfunding นอกจากนี้ หลังวิกฤติภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาควบคุมโดยออกกฎระเบียบในการประกอบธุรกิจการเงินให้มีความเข้มงวดมากขึ้น จนในที่สุดสถาบันการเงินหลายแห่งต้องลดจำนวนพนักงานลงเพื่อความอยู่รอด ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนมนุษย์เพื่อลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ เช่น บริษัท Wealthfront ผู้นำเสนอแอปพลิเคชันที่ใช้ Robo-advisor มาช่วยวางแผนการลงทุนแบบอัตโนมัติให้กับนักลงทุนรายย่อย อีกทั้งการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างสมาร์ตโฟนยังทำให้คนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา

       และข้อมูลผู้ใช้รายบุคคลยังถูกเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่อย่างสตาร์ทอัพสามารถนำเสนอนวัตกรรมทางการเงินซึ่งเปลี่ยนสนามการแข่งขันในธุรกิจตลาดเงินไปตลอดกาล เช่น การทำธุรกรรมที่มีลักษณะ Peer-to-Peer (P2P) ระหว่างบุคคลทั่วไปโดยไม่จำเป็นต้องมีสถาบันตัวกลางผ่านแอปพลิเคชันและ platform ต่างๆ เช่น Transferwise (สำหรับการโอนเงิน) Lendingclub (สำหรับการให้และรับสินเชื่อ) และ Robinhood (สำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนหุ้น) ซึ่งแม้ว่าวิวัฒนาการที่กล่าวมาเหล่านี้จะเริ่มต้นที่ประเทศพัฒนาแล้วเช่นในสหรัฐฯ และยุโรป แต่กำลังขยายตัวไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาอย่าง จีน อินเดีย รวมถึงประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย  

 

สถานการณ์ FinTech ในไทย

      จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงอุตสาหกรรม พบว่าในปี 2560 สตาร์ทอัพในไทยมีประมาณ 8,000 ราย เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากเดิมที่มีเพียง 200 รายในปี 2558 เป็นสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและพร้อมดำเนินธุรกิจได้จริงประมาณ 1,500 ราย ส่วนสตาร์ทอัพที่พัฒนาด้าน FinTech ยังมีจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆ อีกด้วย ซึ่งหากพิจารณาสมาชิกที่ลงทะเบียนกับ Thai FinTech Association ทั้งหมด 110 ราย พบว่ามีสตาร์ทอัพด้าน FinTech ถึง 62 บริษัท หรือคิดเป็น 57% ของสมาชิกทั้งหมด ซึ่งให้บริการใน 4 กลุ่มธุรกิจหลักดังนี้

1)            Business Tools/ Comparison/ Marketplace: ในอดีตการเปรียบเทียบบริการทางการเงินของแต่ละสถาบันการเงินนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการเปิดเผยและจัดเก็บข้อมูลนั้นยังไม่มีศูนย์กลางทำให้ผู้บริโภคได้รับบริการทางการเงินที่ไม่เท่าเทียมกัน แต่จากการพัฒนาด้าน Open Service Architecture ทำให้ FinTech สามารถใช้ประโยชน์จาก Application Programming Interface (API) ในการดึงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มารวมไว้ในที่เดียวแบบอัตโนมัติ และเมื่อสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาเปรียบเทียบและวิเคราะห์ ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น แอปพลิเคชันที่ช่วยเปรียบเทียบ Refinance package ของแทบทุกธนาคาร ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำลงด้วยความรวดเร็ว หรือ platform ที่ยอมให้ผู้ใช้สามารถนำพ้อยท์เครดิตการ์ดจากหลายแห่งมารวมกันและแลกเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าที่ร่วมรายการ

2)            Lending & Credit: ในยุคหลังวิกฤติที่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำทำให้พฤติกรรม Search for yield ของผู้ลงทุนมีมากยิ่งขึ้น การให้สินเชื่อในรูปแบบ P2P lending ซึ่งเป็นการทำธุรกรรม online ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2568 มูลค่าตลาด P2P ทั่วโลกจะสูงถึงกว่า 35.9 ล้านล้านบาท โดยมีตลาดใหญ่อยู่ที่สหรัฐฯ และจีน ซึ่งนอกจากการเติบโตของปริมาณการใช้สมาร์ตโฟนที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ให้และผู้รับสินเชื่อแล้วยังมีการนำข้อมูล Big data มาวิเคราะห์เพื่อประเมิน Credit Scoring ของผู้ขอรับสินเชื่ออีกด้วย ซึ่งแม้ว่าปริมาณของข้อมูลจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และกว่า 80% ของข้อมูลทั่วโลกนั้นเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นระเบียบ (unstructured) ที่กระจัดกระจายอยู่ตาม Social media, Video, ข่าวสารตามสื่อ Online ต่างๆ แต่เทคโนโลยีด้าน Artificial Intelligence (AI) ก็พัฒนาขึ้นอย่างมากเช่นกัน ทำให้การวิเคราะห์และหารูปแบบของข้อมูลทั้งที่เป็น Structured และ Unstructured ด้วยวิธี Machine Learning กำลังเป็นที่นิยมในหมู่สตาร์ทอัพไทยเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการให้สินเชื่อสำหรับบุคคลรายย่อยรวมไปถึง SMEs อีกด้วย

3)            Retail Investments and Personal Finance: ไม่เพียงแต่ผู้บริโภคที่ใช้บริการของระบบการเงินการธนาคารเท่านั้นที่ยังได้รับการบริการไม่ทั่วถึง ผู้ให้บริการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนก็มีแนวโน้มที่จะลดจำนวนพนักงานลงทำให้ต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยในการลงทุนซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปแบบ Robo-advisor ที่พัฒนาจาก AI ที่วิเคราะห์ข้อมูล Big Data ทั้งทางด้านพื้นฐานและข้อมูลด้านเทคนิค พร้อมแนะนำการลงทุนอย่างเหมาะสมเพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการลงทุนของผู้ใช้ในแต่ละคน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าทรัพย์สินภายใต้การการจัดการที่พึ่งพาความสามารถของ Robo-advisor ทั่วโลกนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านล้านดอลล่าร์ สรอ. ภายในปี 2568 นอกจากด้านการลงทุนแล้วยังมีสตาร์ทอัพอีกจำนวนหนึ่งที่นำเสนอแอปพลิเคชันที่ช่วยให้คำแนะนำด้านการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลอีกด้วย อาทิเช่น การจัดการด้านภาษีรายได้ส่วนบุคคล การควบคุมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต และการบริหาร Cashflow รายบุคคล เป็นต้น

4)            Payment and Blockchain: ในหลายประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ซึ่งการจับจ่ายใช้สอยนั้นได้ถูกยกไปอยู่ในรูปแบบของเงินดิจิทัล ทั้งนี้มีผู้ให้บริการ e-wallet ซึ่งเป็นระบบชำระเงินผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย เช่น ระบบอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน โดยแต่ละบุคคลสามารถเชื่อมโยงทุกระบบเข้าด้วยกันเพื่อทำให้ใช้จ่ายทั้งในโลก online และ offline ได้อย่างสะดวก ถูกต้อง และปลอดภัย โดยมีเทคโนโลยี Blockchain หรือ Distributed Ledger Technology (DLT) เป็นพื้นฐาน ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นระบบเครือข่ายของฐานข้อมูลที่มีการอัปเดตทุกครั้งหลังจากผู้ใช้บันทึกการทำธุรกรรมทางการเงินทำให้ไม่สามารถโกงหรือปลอมแปลงข้อมูลได้ ไม่เพียงแต่บริษัทด้านการเงินเท่านั้นที่เข้ามาประกอบธุรกิจนี้ แต่ยังมีบริษัทด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีและฐานลูกค้าบนระบบเครือข่ายของตนสนใจเข้ามาแข่งขันเช่นกัน

โครงสร้างของผู้ประกอบธุรกิจ FinTech ในไทย         ประเภทธุรกิจการเงินที่ FinTech ในไทยให้บริการ

                      

Source: Thai FinTech Association

แนวโน้มการพัฒนาของ FinTech ไทยในอนาคต

ธุรกิจการเงินกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากการพัฒนาของเทคโนโลยี ทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่อย่างสตาร์ทอัพนำเสนอ FinTech เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในบางธุรกรรมที่ผู้ให้บริการทางการเงินดั้งเดิมหรือก็คือสถาบันทางการเงินต่างๆ ที่เคยเป็นผู้ให้บริการแต่เพียงผู้เดียว แม้ว่าในช่วงแรกผู้ให้บริการทางการเงินดั้งเดิมจะเกรงว่าสตาร์ทอัพเหล่านี้อาจเป็นภัยคุกคามกับธุรกิจที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของตน แต่เมื่อเวลาผ่านไปพบว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีนั้นเป็นเรื่องสำคัญ การปรับโครงสร้างองค์กรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อพิจารณาจากจุดแข็งระหว่างสถาบันการเงินและสตาร์ทอัพ FinTech ที่มีความแตกต่างกันนั้น พบว่าหากทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันจะสามารถเติมเต็มส่วนที่เป็นจุดด้อยของกันและกันได้

โดยที่สถาบันการเงินซึ่งเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานและช่องทางการจัดจำหน่ายจะทำหน้าที่จัดหาแหล่งเงินทุน และป้อนข้อมูลลูกค้าให้กับสตาร์ทอัพ FinTech ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางเลือกใหม่ๆ และโครงสร้างองค์กรที่เหมาะกับการคิดค้นนวัตกรรม ทำให้ในปัจจุบันเห็นความร่วมมือระหว่างบริษัทลูกของสถาบันการเงินที่แยกตัวออกมาเพื่อทำหน้าที่เป็น VC สนับสนุนเงินทุนแก่สตาร์ทอัพ FinTech เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สถาบันการเงินเองก็ได้จัดตั้งหน่วยงานสำหรับพัฒนา FinTech ภายใต้แบรนด์ของตัวเองควบคู่กันไปด้วย

จากพัฒนาการด้าน FinTech ในไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานกลางในธุรกิจตลาดทุน มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ให้ตลาดทุนเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนของสังคม ‘To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone’ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ต้องการระดมทุน หรือนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะประสบความสำเร็จได้ต้องมีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสนับสนุน จึงได้จัดโครงการ Capital Market Innovation 2018 การประกวดสุดยอดนวัตกรรมตลาดทุนครั้งแรกของประเทศไทยขึ้น

โดยวัตถุประสงค์หลักคือการส่งเสริมและสร้าง Awareness แก่ผู้มีส่วนร่วมในแวดวงตลาดทุน และสนับสนุนความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการในธุรกิจตลาดทุน รวมไปถึงสตาร์ทอัพ FinTech มหาวิทยาลัย และประชาชน ให้ผลิตนวัตกรรมด้านตลาดทุนที่ทันสมัย สร้างสรรค์ และมีประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งนี้ มีผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 60 ผลงาน ล่าสุดได้ 10 ผลงานผ่านเข้ารอบตัดสินเพื่อเฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรมตลาดทุนไทยแห่งปี ในวันที่ 9 ต.ค. 2561 นี้ ดูรายชื่อและรายละเอียดทั้ง 10 ผลงานได้ที่  

www.set.or.th/CapitalMarketInnovationAwards

ในครั้งหน้าจะพาไปอัปเดตเรื่องราวของ FinTech ในตลาดทุนและความคืบหน้าล่าสุดของโครงการ Capital Market Innovation 2018

ความได้เปรียบระหว่างสถาบันการเงินและสตาร์ทอัพ FinTech

นายศิริยศ จุฑานนท์ ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!