หมวดหมู่: อุตสาหกรรม

SMEสวรรณชย โลหะวฒนกล


บอร์ดสสว. เห็นชอบ อนุมัติงบ 1,234.7077 ล้านบาท ให้สสว. เริ่มงานปี 2562 รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกฎกระทรวงในนิยาม SME ใหม่

      บอร์ดสสว. เห็นชอบ อนุมัติงบ 1,234.7077 ล้านบาท ให้สสว. เริ่มงานปี 2562 รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกฎกระทรวงในนิยาม SME ใหม่ โดยกำหนดจำนวนการจ้างงานหรือรายได้ใหม่เพื่อจัดกลุ่ม SMEของประเทศ และเดินหน้าดำเนินงานตาม 5 แนวทาง ประกอบด้วย Born Strong, Born Digital, Born Global, Born General และ Born @50 plus รวมถึงโครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นแนวทางสอดรับตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริม SME ในปีนี้ของ สสว.

        สสว. ที่ผ่านมาในปี 2559-2561 ได้ดำเนินการขับเคลื่อน SME ภายใต้แผนบูรณาการ SME โดยดำเนินงานร่วมกับ 9 กระทรวง และ 25 หน่วยงาน ก่อให้การเพิ่มผลิตภาพและมูลค่าผลิตภัณฑ์ ดังนี้ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 17,273 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต 13,842 ล้านบาท ลดของเสียในการผลิต 3,431 ล้านบาท เพิ่มผลผลิต 8,986 กิจการ มูลค่ายอดขายเพิ่มขึ้น 25,438 ล้านบาท เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์/ต่อยอดเชิงผลิตภัณฑ์ 240,547 ผลิตภัณฑ์ เกิดการจ้างงานใหม่ 14,994 รายซึ่งในวันนี้ สำหรับการดำเนินงานปี 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2561 มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ซึ่งที่ประชุม มีมติเห็นชอบในเรื่องดังกล่าวต่อไปนี้

        1. เห็นชอบการจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประจำปี 2562 แผนการดำเนินงาน แผนการเงินและงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ภายใต้แผนบูรณาการพัฒนาผู้ประกอบการ เศรษฐกิจชุมชน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล จำนวน 1,234.7077 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณ จำนวน 974.7077 ล้านบาท และเงินงบประมาณจากกองทุนสสว. อีกจำนวน 260 ล้านบาท เพื่อเป็นงบประมาณสำหรับการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามแผนยุทธ์ศาสตร์ 4 ด้านของ สสว. ปี 2562 ในการส่งเสริม SME ของประเทศ

      2. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดจำนวนการจ้างงานหรือรายได้ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. ... เพื่อใช้ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือผู้ประกอบการ จากเดิมที่ได้กำหนดนิยามวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎกระทรวงได้กำหนดจำนวนการจ้างงานและมูลค่าสินทรัพย์ถาวรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2545 ไว้คือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีจำนวนแรงงงาน 50-200 คน สินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดิน 50-200 ล้านบาท

       โดยการดำเนินงานในเรื่องที่ผ่านมาคือ สสว. ได้ดำเนินการทบทวนและกำหนดนิยามวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมใหม่ โดยพิจารณาจากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อาทิ จำนวนการจ้างงาน มูลค่าทรัพย์สินถาวร (ไม่รวมที่ดิน) รายได้ ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ การพิจารณาถึงข้อดีและข้อจำกัดของเกณฑ์ต่างๆ การศึกษานิยาม SME ของต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มีโครงสร้างของจำนวน SME ที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่าการกำหนดนิยามส่วนใหญ่จะมีการกำหนดนิยามของวิสาหกิจรายย่อย (Micro Enterprise) ไว้ด้วย และเกือบทุกประเทศจะกำหนดนิยามวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยใช้เกณฑ์การจ้างงานหรือรายได้กิจการ ซึ่งสรุปได้ดังนี้

       นิยามวิสาหกิจรายย่อย ภาคการผลิต บริการ/การค้า (ค้าส่ง-ค้าปลีก) จำนวนแรงงานไม่เกิน 5 คน รายได้กิจการ ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท

       นิยามวิสาหกิจขนาดขนาดย่อม ภาคการผลิต แรงงานไม่เกิน 50 คน รายได้ ไม่เกิน 100 ล้านบาท ภาคบริการ/การค้า แรงงานไม่เกิน 30 คน รายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท

       วิสาหกิจขนาดกลาง ภาคผลิต แรงงานไม่เกิน 200 คน รายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ภาคบริการ แรงงานไม่เกิน 100 คน รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท และภาคการค้า แรงงานไม่เกิน 50 คน รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท โดยในกรณีที่จํานวนการจ้างงานเข้าลักษณะของวิสาหกิจขนาดหนึ่ง แต่จำนวนรายได้เข้าลักษณะของวิสาหกิจอีกขนาดหนึ่ง ให้ถือ จํานวนการจ้างงานหรือรายได้ที่มากกว่า เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา และจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

       3.เห็นชอบการจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 16 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน เพื่อดำเนินโครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยความเป็นมาคือ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่เพื่อพบประชาชนชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อติดตามการดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจน และมีข้อสั่งการให้ สสว. ดำเนินการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากอาหาร การพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรอย่างครบวงจรและเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์อาหารอนาคต (Future Food) ซึ่งตามโครงการนี้ สสว.ได้มีการดำเนินการแล้วภายใต้โครงการปั้นดาว ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการความร่วมมือของ 8 หน่วยร่วมดำเนินการ ประกอบด้วย สสว. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ บริษัท อสมท. จำกัด(มหาชน) ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งมีสินค้าเกษตรที่นำมาเพิ่มมูลค่า ประกอบด้วย ถั่วลายเสือ กระเทียม งา และบุก

      นอกจากนี้ ยังมีข้อสั่งการเพิ่มเติม ให้สสว. ส่งเสริม วิจัย และพัฒนาการปลูกพืชบุกและเงินทุนสำหรับการปลูกพืชบุก รวมทั้งให้พัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากการเกษตร และจัดหาช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์ให้กับผลผลิตและผลิตภัณฑ์ อาทิ กล้วยตาก กาแฟ กระเทียม ซึ่งสสว.ได้ดำเนินการกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดทำเป็นโครงการต้นแบบแก้ไขปัญหาความยากจน จ.แม่ฮ่องสอน

       4.เห็นชอบปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับ SME ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน งบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 110 ล้านบาท จากวงเงินที่ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการในระยะแรกจำนวน 150 ล้านบาท รวมเป็น 260 ล้านบาท ในกลุ่มเป้าหมาย SMEs 5,000 ราย โดยเพิ่มวงเงินการซื้อประกันความเสี่ยง FX Options จาก 30,000 บาทต่อราย เป็น 50,000 บาทต่อราย และเน้นเพิ่มการอบรมรูปแบบ Online (E-learning) ควบคู่ไปกับการบรรยายสด และการอบรมด้วย VDO รวมทั้งนำเสนอโปรโมชั่นสำหรับ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการในระยะต่อไป ในการลดค่าธรรมเนียมครึ่งราคาสำหรับประกันการส่งออก

      สำหรับ แนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไป จะขยายการดำเนินงานโครงการให้ครอบคลุมองค์ความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) ด้านอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับ SMEs โดย Financial Literacy จะเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ด้านการเงิน จากข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน/สมาคม และสถาบันการเงินต่างๆ และบูรณาการการประชาสัมพันธ์ให้อยู่ในที่เดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ SMEs เข้าถึงบริการทางการเงินและองค์ความรู้ต่างๆ โดยการให้ความรู้ภายใต้โครงการฯ แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้านการเงินและภาษี และด้านการเงินสำหรับการค้าระหว่างประเทศ สำหรับโครงการตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในระยะต่อไป จะเป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการ Financial Literacy นี้ด้วย

       หากกล่าวถึงในภาพรวมของผลการดำเนินงาน ปี 2561 ผอ.สสว. กล่าวอีกว่า ผลงานโครงการต่างๆ สำคัญที่สสว. ดำเนินการ สามารถสร้างมูลค่า/รายได้ รวม 4,190 ล้านบาท จาก 4 โครงการ คือ

               1.โครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ SME 110 ล้านบาท ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อเข้าสู่ตลาด 125,046 ผลิตภัณฑ์

               2.โครงการพัฒนาช่องทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการ SME 2,600.54 ล้านบาท (จากกิจกรรมตลาดในประเทศ 981.04 ล้านบาท กิจกรรมตลาดต่างประเทศ 1,619.50 ล้านบาท)

               3.โครงการพัฒนาสู่สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด (SME Provincial Champion) ในการก้าวสู่ Thailand 4.0 680.5848 ล้านบาท

               4.โครงการพัฒนาเครือข่าย SME ปี 2560 ได้พัฒนาผู้ประกอบการใน 34 เครือข่าย ได้แก่เครือข่ายกล้วย มะพร้าว สมุนไพร มวยไทย Food Truck และ Digital Content จำนวนทั้งสิ้น 4,538 ราย สร้างรายได้กว่า 700 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดการขยายผลโดยมีผู้นำเครือข่ายจำนวน 106 ราย โดยการดำเนินงานได้ครอบคลุมธุรกิจเกษตรเป็นกลุ่มต้นน้ำถึง 3,000 ราย กลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อมที่อยู่กลางน้ำและปลายน้ำอีก 1,538 ราย เช่น กลุ่มสมุนไพรที่สามารถต่อยอดนำงานวิจัยมาสู่การผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสามารถส่งออกได้ โดยเฉพาะ กลุ่ม Digital Content ที่สามารถส่งออกไปยังตลาดเกาหลีโดยได้รับยอดขายกว่า 100 ล้านบาท

      รวมถึงการพาผู้ประกอบการ 3 ราย ที่ได้รับรางวัลสุดยอดเอสเอ็มอีแห่งชาติ (SME National Awards) เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในงาน Silicon Valley International Invention Festival 2018 (SVIIF 2018)

     ณ รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยผู้ประกอบการไทยคว้ารางวัลมาได้ถึง 3 รางวัล 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน จากจำนวนผู้ประกอบการทั่วโลกที่ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 300 ผลงาน จาก 35 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้สสว. ได้จัดทำเว็บไซต์ SME ONE ขึ้นให้เป็นช่องทางการเข้าถึงข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ SME ในทุกมิติ และได้พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม Application SME CONNEXT เพื่อใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME อีกด้วย

         

Click Donate Support Web

468x60 16

BIT FUN728x90

yobit 560 60

8

468x60 bit

468x60 DOG

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!