หมวดหมู่: คมนาคม

CGDประภาศ คงเอยด


สคร.เล็งนำมอเตอร์เวย์ 2 สาย พ่วง CAT-TOT เข้าระดมทุน TFFIF ปีหน้า

     นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยในโอกาสนำกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ในวันแรกว่า ถือว่าประสบความสำเร็จ พร้อม เตรียมนำมอเตอร์เวย์​สาย 7 และ 9 รวมถึง CAT-TOT เข้าระดมทุนในปีหน้า

      กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยหรือ Thailand Future Fund (TFFIF) นำหน่วยลงทุนเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 31 ต.ค. ชูศักยภาพทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี ซึ่งเป็นทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่ TFFIF เข้าลงทุนครั้งแรกในส่วนแบ่งรายได้จากค่าผ่านทาง โดยทางพิเศษทั้ง 2 สายทางมีรายได้จากค่าผ่านทางและปริมาณการจราจรในช่วง 3 ปีงบประมาณย้อนหลัง (2558 – 2560) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยหนุนโอกาสในการรับผลตอบแทนที่ดี พร้อมประมาณการอัตราการปันส่วนแบ่งให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในปีแรก เท่ากับร้อยละ 4.75(1)

      ความคืบหน้าการนำรายได้ของมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 กรุงเทพ-บ้านฉาง และมอเตอร์เวย์หมายเลข 9 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ของกรมทางหลวงเข้ากองทุน TFFIF ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ โดยมี 2 แนวทางคือการแก้ไขกฎหมายการเก็บค่าผ่านทางให้สามารถนำส่วนแบ่งเข้ามาระดมทุนได้ และอีกแนวทาง คือ การจัดตั้งกองทุนใหม่ ในรูปแบบ นิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อมาทำสัญญาเข้าร่วมลงทุนใน TFFIF ซึ่งมองว่าการจัดตั้งรูปแบบนิติบุคคลเฉพาะกิจจะมีความรวดเร็วกว่าการแก้ไขกฎหมาย โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถนำทั้ง 2 เส้นทางเข้ากองทุนได้ภายในไตรมาส 2/2562

      อยู่ระหว่างการพิจารณานำบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT นำเข้ากองทุน TFFIF ในปีหน้าด้วย แต่ทั้งนี้ ต้องรอให้ทั้ง 2 หน่วยงานควบรวมกิจการกันแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก่อน ถึงจะเริ่มดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้

      “ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า CAT-TOT จะควบรวมกันและตั้งหน่วยงานใหม่เป็น โทรคมนาคมแห่งชาติ หลังจากนั้นเชื่อว่าจะสามารถเอาเข้ากองทุนได้ เพราะทั้งสองมีความต้องการใช้เงินเพื่อลงทุนขยายโครงข่ายอยู่แล้ว รวมถึงเป็นนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีโครงการใหม่ ที่มีขนาดใหญ่และมีผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมเข้ามาระดมทุนในกองทุน TFFIF”นายประภาศ กล่าว

       นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนบริษัทจัดการ เปิดเผยว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยหรือ TFFIF นำหน่วยลงทุนเข้าทำการซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 31 ตุลาคม โดยใช้ชื่อย่อ ‘TFFIF’ ในการซื้อขายบนกระดานหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่ต้องการเข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีโอกาสได้รับเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ หลังจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยต่างให้การตอบรับเป็นอย่างดีในช่วงที่เปิดจองซื้อหน่วยลงทุนที่ผ่านมา

     ทั้งนี้ TFFIF จะเข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยเข้าลงทุนครั้งแรกในสิทธิในการรับส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 45 ของรายได้ค่าผ่านทางรวมสุทธิ(2) ที่จัดเก็บได้จากทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี ระยะทางรวม 83.2 กิโลเมตร เป็นระยะเวลา 30 ปีนับจากวันโอนสิทธิตามสัญญาโอนและรับโอนสิทธิในรายได้ (Revenue Transfer Agreement หรือ RTA) นอกจากนี้ ทางพิเศษทั้ง 2 สายทางดังกล่าว มีแนวโน้มจะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ อาทิ ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ที่ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ทางพิเศษในการเดินทาง ปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การขยายโครงข่ายทางพิเศษและทางเชื่อมต่อในอนาคต ตลอดจนนโยบายการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงการเติบโตของที่อยู่อาศัยในพื้นที่แถบชานเมืองและพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ ที่จะส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ทางพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน

      กองทุนมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ในกรณีที่กองทุนมีกำไรสะสมเพียงพอ และโดยรวมแล้วในแต่ละรอบปีบัญชีจะจ่ายในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว โดยนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาจะได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษีจากเงินปันผลที่ได้รับจากกองทุนเป็นระยะเวลาประมาณ 8 ปี รวมถึงมีโอกาสที่ TFFIF จะเติบโตจากการเข้าลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของภาครัฐในอนาคต

      ดร.สุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินที่กองทุน TFFIF เข้าลงทุนครั้งแรก กล่าวว่า กทพ.ยังคงเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถีตามปกติ โดยจะจัดให้มีตู้เก็บค่าผ่านทางแบบเงินสดและตู้เก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ทางพิเศษได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มความสะดวกในการใช้บริการและลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง

     ส่วนเงินที่ได้รับจากการโอนสิทธิในรายได้ของทางพิเศษดังกล่าว กทพ. คาดว่าจะนำไปใช้ลงทุนพัฒนาทางพิเศษ 2 สายทาง ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกและส่วนต่อขยายทดแทนตอน N1 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ กทพ. ที่มุ่งมั่นพัฒนาทางพิเศษ เพื่อให้บริการที่ดี มีความคุ้มค่า สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย อย่างยั่งยืน

      การเสนอขายหน่วยลงทุนส่วนเพิ่มทุนในครั้งนี้ของ TFFIF มีจำนวนหน่วยลงทุนเสนอขายสุดท้ายเท่ากับ 4,470 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่าการเสนอขายหน่วยลงทุนส่วนเพิ่มทุนทั้งหมดเท่ากับ 44,700 ล้านบาท (ประมาณการอัตราการปันส่วนแบ่งให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในปีแรก เท่ากับร้อยละ 4.75(1)) นับเป็นการเสนอขายที่มีมูลค่าการเสนอขายสูงที่สุดในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2561

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!