หมวดหมู่: พาณิชย์

MOCพมพชนก วอนขอพร


พาณิชย์ เผยส่งออก พ.ย.ลดลง 0.95% หลังความขัดแย้งทางการค้าจีน-สหรัฐ ส่งผลต่อไทยมากขึ้น, ยังคงเป้าทั้งปี 8%

      สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน พ.ย.61 โดยภาพรวมการส่งออกลดลง 0.95% มูลค่า 21,237.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากตลาดคาดจะขยายตัว 3.1-3.2% จากผลกระทบหลักของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯที่ส่งผลต่อไทยมากขึ้น ซึ่งกระทบต่อการส่งออกไทยไปจีน โดยเฉพาะในสินค้าซัพพลายเชน อีกทั้งส่งผลต่อการส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ทั้งเกาหลีและไต้หวัน

      ส่วนการนำเข้า พ.ย. 61 ขยายตัว 14.66% มูลค่า 22,415 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 1,177.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

      สำหรับ ในช่วง 11 เดือนปี 61 (ม.ค.-พ.ย.61) การส่งออกขยายตัว 7.29% มูลค่า 232,725 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนการนำเข้าขยายตัว 14.77% มูลค่า 231,343.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,381.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

       น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนพ.ย. 61 กลับมาหดตัวที่ 0.95% หรือคิดเป็นมูลค่า 21,237 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูงและผลกระทบทางอ้อมจากข้อพิพาททางการค้าที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน

       อย่างไรก็ตาม การส่งออกในตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และ CLMV ขยายตัวสูง โดยเฉพาะ CLMV มีแนวโน้มเติบโตสูงต่อเนื่อง และมีมูลค่าสูงกว่าตลาดจีนและสหรัฐฯ ในเดือนนี้สะท้อนว่าภาพรวมการค้าไทยเน้นพึ่งพาภูมิภาคมากขึ้น โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักยังขยายตัว 5.3% ซึ่งการส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยขยายตัว 11.9% ตลาดญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.3% อย่างไรก็ตามการส่งออกไปสหภาพยุโรปหดตัวที่ 2.0% ขณะที่การส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงหดตัวที่ 1.7% หดตัวในเกือบทุกตลาดโดยเฉพาะอาเซียน-5 เอเชียใต้ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวันหดตัว 4.3% 7.6% 11.1% 1.8% และ 3.0% ตามลำดับ การส่งออกไปจีนกลับมาหดตัวที่ 8.9% แต่ยังมีตลาดที่ยังขยายตัวได้ดี อาทิ ตลาด CLMV และอินเดีย ขยายตัวที่ 17.6% และ 3.6% ตามลำดับ ตลาดศักยภาพระดับรองหดตัวที่ 10.6% เนื่องจากการส่งออกไปทวีปตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย แอฟริกาและลาตินอเมริกา หดตัว 17.4% 11.8% 9.8% และ 9.7% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มประเทศ CIS ขยายตัว 6.6% นอกจากนี้การส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์กลับมาขยายตัวต่อเนื่องที่ 52.5% สะท้อนถึงผลบวกของราคาทองคำที่มีต่ออัตราการขยายตัว

      อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดว่าการส่งออกในปี 61 จะยังขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 8% เนื่องการส่งออกไป สหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และการส่งออกไทยในเดือนนี้ขยายตัวได้ในระดับสองหลักแสดงให้เห็นความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น, ญี่ปุ่น การส่งออกยังรักษาการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง, ตลาดอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV และอินเดีย มีแนวโน้มการขยายตัวสูงและเป็นตลาดศักยภาพที่มีบทบาทสูงต่อภาพรวมการส่งออกไทยในระยะหลัง อย่างไรก็ดี ตลาดยุโรป มีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันสูงขึ้นจากการลงนามความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างเวียดนามและสหภาพยุโรป ซึ่งอาจกระทบการส่งออกไทยหลังจากนี้ ทั้งนี้คาดว่าความตกลงจะมีผลบังคับใช้ช่วงต้นปี 62

      ทั้งนี้ ภาพการส่งออกของไทยยังคงเป็นบวก ซึ่งได้อานิสงส์จากการขยายสินค้าเข้าไปยังตลาดสหรัฐทดแทนตลาดจีน แต่คงจะชะล่าใจไม่ได้เนื่องจากผลกระทบความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ส่งต่อสินค้าในกลุ่มซัพพลายเชน ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ต้องเตรียมรับมือไว้ในปีหน้า

      "ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ ถ้าดูตัวเลขการส่งออกรายเดือนทั้งปีจะเห็นว่า เราทำได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆเยอะ เฉลี่ยส่งออกรายเดือนเกิน 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯทุกเดือน มันมีแฟกเตอร์อื่นๆ เช่น การขายของไปแทนที่สหรัฐ จากอีก 21,000 เศษขึ้นไป 22,000 มันก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ คงไม่สามารถตอบได้ 100% แต่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ แต่ถ้าเดือนธันวาคมได้ประมาณ 21,600 ได้ 7.5% แค่คิดว่า อีก 500 กว่าเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นได้ 8% คิดว่ามีสิทธิ์ลุ้น" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

     น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์พร้อมผลักดันการส่งออกในช่วงเวลาที่เหลือของปี 61 ทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย 8% โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการขยายตัวของการส่งออกในประเทศกลุ่มอาเซียน และ CLMV รวมถึงอินเดียมากขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะใช้โอกาสในฐานะประธานอาเซียนในปีหน้า ผลักดันการค้าอาเซียนให้เติบโตไปพร้อมๆกัน เพื่อขยายการค้าในกลุ่มและนอกกลุ่มอาเซียน พร้อมทั้งเตรียมรับมือผลกระทบจากมาตรการปกป้องทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน เพื่อให้การส่งออกของไทยเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องในปี 62

     "การพักใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นเวลา 90 วัน จะช่วยให้บรรยากาศของการค้าโลกดีขึ้น และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้ส่งออกกลับมาได้ในระยะสั้น ทั้งนี้ ต้องติดตามความคืบหน้าหลังช่วงเวลาดังกล่าว"น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

     ส่วนเป้าหมายการส่งออกปี 62 ยังคงเป้าหมายที่ 8% แต่ต้องระมัดระมังผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯที่มากขึ้น ส่งผลให้แต่ละประเทศเร่งเจราจาการค้าและลดภาษีมากขึ้น เช่น จีนมีการลดภาษีให้หลายประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งแนวโน้มนี้ยังคิดว่า ปี 62 ยังคงดำเนินต่อไป และอีกปัจจัย คือ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในต้นปีหน้า เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล ปัจจัยที่ต้องติดตามคือ นโยบายทางการค้าที่เห็นว่า ควรมีการเร่งเจรจากับประเทศใหญ่ๆในระดับภูมิภาค ในเรื่องของภาษีทางการค้าที่อาจจะยังเสียเปรียบประเทศอื่นๆที่มีการเจรจาไปก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อช่วยรักษาฐานการส่งออกของไทยต่อไป

      น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ควรมีการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น กลุ่มอาหาร เป็นต้น หรือภาคบริการ เช่น กลุ่มอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ เพื่อช่วยให้ไทยสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันต่อไปได้ รวมถึงต้องสร้างพันธมิตร โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอีจากต่างประเทศให้เข้ามาตั้งฐานในประเทศไทย

     ด้านน.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า แม้ว่าตัวเลขการส่งออกเดือน พ.ย.จะลดลงแต่ไม่น่าตกใจ ซึ่งได้มีการพูดคุยกับภาคเอกชนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมายังคงมั่นใจว่า ตัวเลขส่งออกทั้งปี 61 และตัวเลขส่งออกปี 62 ยังคงได้ 8% ซึ่งทางกระทรวงพยายามควบคุมทั้งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกทั้ง ปัจจัยชั่วคราวและปัจจัยเสี่ยงภายประเทศให้ได้ทั้งหมด ส่วนปัจจัยเสี่ยงนอกประเทศก็พยายามเตรียมการรองรับเป็นระยะๆ กับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น

      อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในส่วนของการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ ทางสำนักงานส่งเสริมการค้าในสหรัฐฯ ได้มีการประเมินถึงโอกาสของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐ ในช่วงที่จีนมีปัญหา โดยมีแผนงานเตรียมไว้ ด้วยการจัดตั้งคณะผู้แทนการค้ารีบบุกตลาดในกลุ่มสินค้าที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็น อาหารทะเลแปรรูป เครื่องดื่ม พลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์และผลิตภัณฑ์ยาง

     นอกจากนี้ ได้เน้นการบุกเจาะตลาดจีนเป็นรายมณฑล โดยต้นปี 62 จะมีคณะผู้แทนและภาคเอกชนไปยังประเทศจีน เพื่อขยายเส้นทางการกระจายสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร และสินค้ากลุ่มฮาลาล ซึ่งมองเห็นถึงโอกาสที่จะขยายสินค้าไปยังเอเชียกลาง และไปถึงยุโรปตะวันออกได้ด้วย ซึ่งมีภาคเอกชนให้ความสนใจเข้าร่วม เพื่อประโยชน์ในการขายสินค้าผ่านทั้งศูนย์กระจายสินค้าและผ่านทางออนไลน์ต่างๆ ต่อไป

      อินโฟเควสท์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!