หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV4 copy


การจัดทำพิธีสารแก้ไขความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน ฉบับที่ 4 (Fourth Protocol to Amend the ASEAN Comprehensive Investment Agreement)

 

      คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพิธีสารแก้ไขความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน ฉบับที่ 4 (Fourth Protocol to Amend the ASEAN Comprehensive Investment Agreement) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอ

      รวมทั้ง อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามร่างพิธีสารแก้ไขความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน ฉบับที่ 4 ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 (เรื่อง การจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ) และเมื่อลงนามแล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา แล้วเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบพิธีสารฯ ก่อนแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันต่อไป

        ทั้งนี้ ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงนามร่างพิธีสารแก้ไขความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน ฉบับที่ 4 และให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดในพิธีสารแก้ไขความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน ฉบับที่ 4 ต่อไป โดยให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนว่าไทยพร้อมที่จะให้พิธีสารแก้ไขความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน ฉบับที่ 4 มีผลผูกพันต่อไป เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเห็นชอบพิธีสารดังกล่าวแล้ว

      สาระสำคัญของร่างพิธีสารแก้ไขความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน ฉบับที่ 4 เป็นการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมของข้อบทการห้ามรัฐกำหนดเงื่อนไขให้นักลงทุนปฏิบัติ (Prohibition of Performance Requirements: PPR) เช่น กำหนดให้ใช้วัตถุดิบในประเทศ กำหนดสัดส่วนปริมาณหรือมูลค่าของการนำเข้าและส่งออก หรือการกำหนดปริมาณเงินตราต่างประเทศที่นำเข้ามาลงทุน ห้ามรัฐกำหนดเงื่อนไขให้นักลงทุนปฏิบัติที่มีระดับเกินกว่าที่ผูกพันไว้ภายใต้ความตกลงว่าด้วยมาตรการการลงทุนที่เกี่ยวกับการค้า (Agreement on Trade-Related Investment Measures: TRIMS) ขององค์การการค้าโลก และกำหนดว่าสมาชิกอาเซียนจะต้องประเมินและทบทวนข้อบท PPR เพื่อพิจารณาเงื่อนไขหรือองค์ประกอบเพิ่มเติมเมื่อมีความจำเป็น การแก้ไขความตกลงด้านการลงทุนอาเซียนในครั้งนี้จะช่วยยกระดับความตกลงให้มีมาตรฐานที่สูงและเป็นสากลมากขึ้น ซึ่งความตกลงมาตรฐานสูงจะเป็นเครื่องมือสำหรับดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น

        ร่างพิธีสารนี้ไม่มีการกำหนดเชื่อมโยงกับกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (Investor State Dispute Settlement) ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อรัฐ รวมทั้งเนื่องจากการกำหนดข้อบท PPR ไม่ได้เป็นการเปิดเสรีการลงทุนในกิจการต่าง ๆ และข้อผูกพันภายใต้พิธีสารฯ ไม่ได้เกินขอบข่ายที่กำหนดภายใต้กฎหมายภายในประเทศที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ได้รับผลกระทบจากร่างพิธีสารดังกล่าว ทั้งนี้ ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจเพื่อเตรียมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 33 และการประชุมสุดยอดผู้นำที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2561 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ นั้น ที่ประชุมมีมติว่าให้สมาชิกอาเซียนดำเนินการตามกระบวนการภายในเพื่อให้พร้อมลงนามในร่างพิธีสารฯ ในที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 25 ในเดือนเมษายน 2562 ณ จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย

        ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มีนาคม 2562

Click Donate Support Web

ais 790x90

GC 950x120

sme 720x90SIAM790x90

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!